วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 11

งานแต่งงานของชาวฝรั่งเศส
เมื่อคู่บ่าวสาวที่เป็นชาวคริสต์จดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถมาประกอบพิธีแต่งงานตามศาสนาในโบสถ์ได้ ขอให้ท่านอย่าติดภาพงานแต่งงานในโบสถ์ที่ท่านเคยดูในละครไทยหรือในซีรีย์เกาหลีว่าช่างโรแมนติกเหลือเกิน เพราะในความเป็นจริงนั้นประกอบด้วยขั้นตอนพิธีมากมาย ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะเสร็จ และภายในโบสถ์ก็ไม่ได้ประดับประดาให้สวยงามตระการตาเหมือนในหนัง

การประกอบพิธีแต่งงานในโบสถ์ หรือตามที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า " พิธีมิสซาสำหรับงานแต่งงาน " นั้น ขบวนเริ่มต้นด้วยเจ้าบ่าวที่ควงคุณแม่ของตนเดินนำเข้ามาจากประตูโบสถ์ ( ภาพที่ 1 ) บรรดาแขกเหรื่อทั้งหลายจะลุกขึ้นยืนและปรบมือเพื่อต้อนรับขบวน เมื่อทั้งคู่เดินมาถึงด้านหน้าสุดตรงบริเวณที่บาทหลวงยืนรออยู่แล้ว คุณแม่จะปล่อยมือจากเจ้าบ่าว แล้วปลีกตัวไปนั่งที่เก้าอี้ยาวแถวหน้าสุด ปล่อยให้เจ้าบ่าวยืนอยู่ข้างบาทหลวงเพื่อรอเจ้าสาว ( ภาพที่ 2 )

จากนั้น คุณแม่ของเจ้าสาวจะควงคู่เดินเข้ามาพร้อมคุณพ่อของเจ้าบ่าว เพื่อเป็นการแสดงว่าต่อไปนี้ทั้งสองครอบครัวจะรวมเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว เมื่อทั้งคู่เดินมาถึงด้านหน้า ต่างฝ่ายต่างก็แยกซ้ายขวาเพื่อนั่งเก้าอี้ยาวแถวหน้าสุดเช่นกัน เท่ากับว่าตอนนี้คุณพ่อและคุณแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าวนั่งอยู่พร้อมหน้า แต่ฝ่ายคุณแม่ของเจ้าสาวนั่งอยู่คนเดียว

จากนั้น บรรดาพยานทั้งหลาย คือ เพื่อนสนิทที่จะเซ็นต์เป็นพยาน ก็จะเดินเรียงแถวเข้ามา และปลีกตัวไปนั่งรวมกันด้านข้าง ( ภาพที่ 3 )

ตามด้วยขบวนด้วยเด็กเล็กที่แต่งตัวเหมือนกัน เดินจับมือเป็นคู่ออกมา คนฝรั่งเศสถือว่าหากงานแต่งใดที่มีเด็กๆในขบวนเยอะ จะนับเป็นงานแต่งที่ยิ่งใหญ่มาก ( ภาพที่ 4 )

และสุดท้าย ก็ถึงคราวของบุคคลที่ทุกคนรอคอย นั่นคือ เจ้าสาวควงแขนคุณพ่อ ( ภาพที่ 5 ) เดินเข้ามาจนถึงด้านหน้าที่มีเจ้าบ่าวและบาทหลวงยืนรออยู่ คุณพ่อส่งมือเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าว และตัวเองก็ปลีกไปนั่งข้างคุณแม่

ณ ตอนนี้ ด้านหน้าโบสถ์มีเพียง 3 บุคคล คือ บาทหลวง เจ้าบ่าว และเจ้าสาว บาทหลวงเริ่มทำพิธีมิสซาด้วยการอ่านบทอวยพร ร้องเพลง และสวดมนต์ จากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ให้คำปฏิญาณต่อหน้าพระเยซูเจ้า ว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันและดูแลกันในยามสุขและยามทุกข์ และทั้งคู่ก็สวมแหวนให้แก่กัน ( ภาพที่ 6 )

เมื่อสวมแหวนเสร็จแล้ว คู่บ่าวสาวจะเดินไปที่โต๊ะหินอ่อนสำหรับทำพิธีด้านหน้ารูปปั้นพระเยซูเจ้า เพื่อเซ็นต์ชื่อลงทะเบียนสมรสอีกครั้ง และพยานทั้งหลายก็เซ็นต์ตาม

บาทหลวงเรียกให้บรรดาแขกเหรื่อที่เป็นชาวคริสต์มาต่อแถวรับขนมปังชิ้นเล็กๆไปกิน เพราะตามความเชื่อของศาสนากล่าวไว้ว่า ขนมปังเป็นสัญลักษณ์แทนร่างกายของพระเยซูเจ้า

พิธีมิสซาจบลงด้วยการที่บรรดาแขกเหรื่อหันซ้าย หันขวา เพื่อจุ๊บแก้มหรือจับมือกับคนข้างๆ แม้ว่าไม่รู้จักกันแต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นธรรมเนียมที่แสดงว่า ทุกคนเป็นพี่น้องกันตามความเชื่อทางศาสนา และขบวนเด็กเล็กก็จะถือตะกร้ามารับเงินบริจาคตามที่นั่งของเรา ( ภาพที่ 7 )

ระยะเวลาทำพิธีนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง แขกเหรื่อจะต้องลุกยืนหรือนั่งเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับบทสวดมนต์หรือบทร้องเพลง

เมื่อพิธีในโบสถ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาแขกเหรื่อจะทยอยออกไปรอด้านหน้าโบสถ์ พร้อมกับหยิบกลีบดอกไม้ที่จะมีวางเตรียมไว้ในตะกร้าหน้าประตูโบสถ์ติดมือไปด้วย เมื่อคู่บ่าวสาวเดินออกมาหลังสุด ทุกคนก็จะปรบมือ โห่ร้องแสดงความยินดี และโปรยดอกไม้ทั่วไปหมด ผู้คนจะถ่ายรูปหมู่กับคู่บ่าวสาวที่บันไดหน้าโบสถ์ ช่วงเวลานี้สวยงามมากเหมือนในหนังที่เราได้ดูกัน

เมื่อคู่บ่าวสาวถ่ายรูปกับทุกคนเรียบร้อยแล้ว ก็จะขึ้นนั่งรถยุโรปโบราณที่ประดับด้านหน้าด้วยดอกไม้ เพื่อเดินทางไปยังสถานที่จัดงานเลี้ยงช่วงเย็น ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีมิสซาตามศาสนาอย่างสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น