วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 32

วิธีการเลือกไวน์ขั้นพื้นฐาน
หากท่านชอบดื่มไวน์ แต่อ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก จึงไม่รู้ว่าต้องเลือกขวดแบบไหน บทความนี้จะช่วยท่านได้

ภาพที่ท่านเห็นนี้ คือไวน์คุณภาพดีจากเมือง Minervois ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

ไวน์นี้ได้รับการบรรจุลงขวดในปี 2011 ความโดดเด่นของไวน์ขวดนี้มี 2 ประการ คือ ประการแรก ที่ฉลากหน้าขวดมีเขียนคำว่า " Élévé en fûts de chêne " ( เอเลอเว่ ออง ฟู เดอ แชน ) ตัวสีแดงบรรทัดล่างสุด แปลว่า " ถูกหมักในถังไม้เกาลัด " ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตไวน์บางส่วนนิยมหมักไวน์ในถังเหล็ก ซึ่งรสชาติไวน์จะไม่อร่อยเท่าหมักจากถังไม้เกาลัด ด้วยเหตุนี้เอง ไวน์ขวดนี้จึงมีจุดเด่นที่ชัดเจน

ประการที่สอง เราจะสังเกตเห็นป้ายสติ๊กเกอร์วงกลมสีทองด้านบนขวา ป้ายนี้เขียนโฆษณาด้านบนไว้ว่า " concours mondial Bruxelles " ( กองกูค์ มงดิอาล บรุคแซล ) แปลว่า การแข่งขันระดับโลกที่เมืองบรัสเซล ส่วนด้านล่างเขียนว่า " médaille d'or 2012 " ( เมได ดอค์ 2012 ) แปลว่า รางวัลเหรียญทองปี 2012 สรุปแล้วคือ ไวน์ขวดนี้ถูกส่งเข้าประกวดระดับโลกที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม และได้รับรางวัลเหรียญทองในปี 2012

ผู้บริโภคเห็นเพียงเท่านี้ก็ยินดีจ่ายเงินซื้อแล้ว

ดังนั้น หากท่านมาเที่ยวฝรั่งเศส และอยากซื้อไวน์คุณภาพดีกลับไป ก็ให้เลือกฉลากที่เขียนคำเหล่านี้นะ

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 31

อาหารคาวแต่ใส่ผลไม้
คนฝรั่งเศสบางส่วนโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศชื่นชอบอาหารคาวที่ใส่ผลไม้ลงไปด้วย 

ตามบ้านเรือนทั่วไป เขาจะนำไส้กรอกมาผัดกับแอปเปิ้ล โดยธรรมชาติเมื่อเราทอดไส้กรอก มันจะมีน้ำมันจากหมูไหลออกมาอยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งทำให้เลี่ยน คนฝรั่งเศสจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการปอกแอปเปิ้ลแล้วหั่นเป็นชิ้นๆผัดลงไปพร้อมไส้กรอกด้วย เมื่อแอปเปิ้ลโดนความร้อน มันจะมีน้ำเชื่อมรสหวานอมเปรี้ยวไหลออกมา ทำให้เมื่อทานไส้กรอกคู่กับแอปเปิ้ลแล้ว รสชาติเข้ากันได้ดีมาก

หากเป็นที่ร้านอาหาร เมนูอาหารคาวใส่ผลไม้ก็จะถูกพัฒนาให้หรูหรายิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น อาหารในภาพนี้ คือ เป็ดอบราดซอสลูกฟิกและองุ่น พ่อครัวนำเป็ดไปอบให้สุกก่อน จากนั้นค่อยนำไปย่างเพื่อให้หนังกรอบ ส่วนซอสนั้น ทำมาจากลูกฟิกสด องุ่นเขียว และใส่ไวน์แดงนิดหน่อย เพื่อให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมื่อทานคู่กับมันฝรั่งนึ่งที่มีรสเค็มๆแล้ว อร่อยจนแทบจะไม่อยากวางช้อนเลยทีเดียว

ปกติเรามักจะเห็นแต่ลูกฟิกอบแห้งสีน้ำตาลวางขายตามซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำในประเทศไทย ลูกฟิกนั้นเราสามารถกินได้ทั้งลูก แต่ที่ฝรั่งเศสนี้ มีลูกฟิกสดขายตลอดปี ซึ่งวิธีการกินลูกฟิกสดคือ เมื่อหั่นครึ่งเสร็จแล้ว ก็ใช้ช้อนเล็กคว้านเนื้อสีแดงๆออกมากิน เนื้อมันจะปนด้วยเม็ดเล็กๆเต็มไปหมด เม็ดเหล่านั้นกินได้ ตอนเคี้ยวจะรู้สึกกรุบๆ ให้กินแต่เนื้อ อย่ากินเปลือก

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 30

ไวน์ใหม่ๆ
ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่นทั่วฝรั่งเศส นักเรียนและนักศึกษามักจะชวนกันไปรับจ้างเก็บองุ่น เพื่อหาเงินค่าขนมก่อนเปิดเทอม

องุ่นที่เก็บมาแล้วนั้น จะถูกแบ่งหมักออกเป็น 2 แบบ คือ หมักนานเป็นปีด้วยแอลกอฮอล์จนกลายเป็นไวน์ หรือหมักไม่นานนักและใส่แอลกอฮอล์เล็กน้อย จนคล้ายเป็น Sparkilng water รสองุ่นดังเช่นในภาพ

คนฝรั่งเศสเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า " vin nouveau " ( แวง นูโว ) แปลว่า " ไวน์ใหม่ " ไวน์ใหม่นี้หาซื้อได้แค่ช่วงเดือนกันยายนนี้เท่านั้น และขายดีมาก วางเท่าไหร่ก็หมดตลอด ผู้คนแห่กันไปซื้อมาตุนไว้ เพราะทำมาจากองุ่นสดใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยว

ตามซุปเปอร์มาเก็ตจะจัดโปรโมชั่นพิเศษหรือตั้งเป็นซุ้มขายไวน์เฉพาะกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้นำไวน์ของตนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองหรือเหรียญเงินมาวางจำหน่าย ดังนั้น ในช่วงเดือนกันยายน นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนฝรั่งเศสที่ได้เลือกซื้อไวน์คุณภาพดี

ปัจจุบันนี้ การจัดโปรโมชั่นไวน์กลายเป็นแฟชั่นที่ทุกซุปเปอร์มาเก็ตแข่งกันจัด เพื่อดึงลูกค้าให้มาซื้อไวน์ที่ซุปเปอร์ของตน

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 29

วิก กับสังคมฝรั่งเศส
เรามักเห็นภาพคนฝรั่งเศสโบราณใส่วิกผมสีขาวและมีลักษณะม้วนเป็นหลอดๆ แฟชั่นนี้เริ่มต้นขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1700 จนถึงช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 หลังจากนั้น แฟชั่นนี้ก็ค่อยๆหายไป

คนที่ใส่วิกจะต้องเป็นชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น เพราะเขาคิดว่าใส่วิกแล้วสวยงาม และอีกเหตุผลหนึ่งคือ สมัยก่อน คนไม่มีสุขอนามัย ไม่ได้อาบน้ำบ่อย ไม่มีแชมพูสระผม ทำให้เป็นเหาได้ง่าย และเมื่อเป็นเหาแล้วก็ไม่มีน้ำยาฆ่าเหา ทางแก้ปัญหาเดียวสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย คือ ต้องโกนผมออกทั้งหมด และใส่วิกแทน เมื่อจะนอนตอนกลางคืนค่อยถอดวิกออก

ส่วนชาวบ้านธรรมดาไม่มีวิกใส่ หากเป็นเหา ก็ต้องโกนหัวโล้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมสมัยนั้น

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 28

การนั่งรถไฟ
สำหรับการท่องเที่ยวภายในฝรั่งเศส ผู้คนจะนิยมนั่งรถไฟไปต่างเมือง เพราะการคมนาคมโดยรถไฟถือเป็นเส้นทางหลักของประเทศ และสถานีรถไฟมักจะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้เดินเที่ยวต่อได้ง่าย

หากเราซื้อตั๋วล่วงหน้า ราคาก็จะถูก หากซื้อตั๋วในเวลากระชั้นชิดกับการเดินทาง ราคาก็จะแพง

ก่อนขึ้นรถไฟ อย่าลืมตอกตั๋ว !!!
เครื่องตอกตั๋วสีเหลืองนี้ จะติดตั้งอยู่บริเวณทางเดินไปชานชาลา เราใส่ตั๋วด้านใดก็ได้เข้าไปในเครื่อง เครื่องจะตอกเวลาและชื่อสถานีที่เราขึ้นรถไฟลงบนตั๋ว

หากเราไม่ได้ตอกตั๋ว ถือเป็นความผิดอย่างหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่เดินมาตรวจตั๋วตามที่นั่งบนรถไฟ เราจะต้องเสียค่าปรับ

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 27

คริสต์มาส
วันนี้คือวันคริสต์มาส คนฝรั่งเศส " ทุกคน " ต่างกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็ตาม แต่การฉลองกันภายในครอบครัวกลายเป็นประเพณีแห่งชาติไปแล้ว

สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด เขาจะไปประกอบมิสซาที่โบสถ์ในคืนวันที่ 24 เพราะพระเยซูเจ้าเกิดตอนเที่ยงคืน คริสตศาสนิกชนจึงต้องไปโบสถ์ หรือไม่ก็เป็นวันที่ 25 ตอนเช้า เพื่อฉลองการเกิดของพระเยซูเจ้า

ส่วนในวันที่ 25 คนฝรั่งเศสทุกผู้ทุกคนต่าง " ต้อง " กลับไปทานข้าวกับครอบครัวตนเองในมื้อกลางวันหรือเย็น ไม่ว่าเขาจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็ต้องกลับบ้าน นั่นหมายความว่า วันคริสมาสต์เป็นวันรวมญาติ รวมสมาชิกทุกคนประจำปี ไม่มาไม่ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวหากขาดสมาชิกคนใดคนหนึ่งไป

พอทุกคนมาถึงบ้าน เขาจะรวมตัวกันหน้าเตาผิง เจ้าบ้านมักจะจัดต้นคริสต์มาสไว้ใกล้ๆ มีกล่องของขวัญมากมายวางอยู่ใต้ต้นคริสมาสต์ เขาเริ่มการแจกของขวัญโดยการให้เด็กที่อายุน้อยที่สุดในครอบครัวเป็นคนหยิบของขวัญและยื่นให้ทุกคน หรือบางครอบครัวก็ให้ผู้ใหญ่เป็นคนแจก แต่ว่าจะต้องยื่นให้เด็กที่มีอายุน้อยที่สุดก่อน คือเป็นการแจกโดยเรียงตามอายุ

เมื่อแจกและแกะของขวัญกันเสร็จแล้ว เขาจะทำอาหารทานกันในบ้าน ไม่ค่อยนิยมไปที่ร้านอาหาร เพราะสมาชิกเยอะ ไปตามร้านก็จะแพง อีกทั้ง เขายังถือว่าทานที่บ้านได้บรรยากาศอบอุ่นกว่า ดังนั้น มื้ออาหารวันคริสมาสต์จึงคึกคักไปด้วยสมาชิกทุกเพศทุกวัย

ตามบ้านเรือนก็จะประดับบ้านและตกแต่งโต๊ะอาหารอย่างสวยงามอลังการเพราะเป็นเทศกาลสุดพิเศษ เริ่มต้นด้วยการยืนดื่มแชมเปญ จากนั้นก็เชิญแขกทั้งหมดนั่งประจำที่ และทานอาหารมื้อใหญ่ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง ได้แก่ อาหารจานแรก อาหารจานหลัก สลัด เนยแข็ง ขนมหวาน และปิดท้ายด้วยชาหรือกาแฟ เราจึงจะลุกออกจากโต๊ะอาหารได้

หากเราฟังแค่ภาพรวม เราก็จะจินตนาการได้ถึงความอบอุ่น ความสนุกสนาน และความรื่นเริง ในบ้านนั้นมีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ กลิ่นอาหาร แสงไฟเหลืองนวลจากเทียน ไออุ่นจากเตาผิง มองไปทางไหนก็มีแต่สมาชิกในครอบครัวพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิต แต่ในทางกลับกัน เทศกาลคริสต์มาสในฝรั่งเศสไม่ได้มอบแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว วันคริสต์มาสถือเป็นช่วงเวลาแห่ง " ความเศร้า " สำหรับคนฝรั่งเศสที่ไม่มีครอบครัว

กล่าวคือ คนฝรั่งเศสสูงอายุที่โสด ไม่ได้แต่งงาน หรือแต่งแล้วแต่อีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน และ/หรือไม่มีลูก ตามปกติแล้วเขาสามารถดำเนินชีวิตคนเดียวได้ แต่พอถึงกลางเดือนธันวาคม เมื่อคริสต์มาสใกล้จะมาถึงแล้ว เขาเริ่มไม่มีความสุข เพราะเขารู้ว่าวันที่ 25 เขาจะต้องอยู่คนเดียว และมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่มีใครอยากอยู่ในบ้านหรืออพาร์ตเม้นเพียงลำพังในวันคริสต์มาส ในขณะที่บ้านข้างๆฉลองกันในครอบครัวอย่างมีความสุข ดังนั้น หากเขายังมีแรงเดินทางได้ เขาก็จะเลือกเดินทางออกนอกประเทศ ไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ฝรั่งเศส เพราะเขาไม่มีครอบครัว ดังนั้นเขาจึงต้องการหลีกหนีช่วงเวลานี้

ส่วนคนสูงอายุที่อยู่ตามบ้านพักคนชรา ตามสถานที่นั้นๆจะมีการจัดงานคริสต์มาสให้ และเชิญให้ญาติหรือลูกหลานของผู้สูงอายุมาร่วมด้วยได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าลูกหลานมักไม่มาร่วมงานเลี้ยงนี้ ทำให้บรรยากาศงานเลี้ยงค่อนข้างเงียบเหงา

บทความนี้สะท้อนสภาพสังคมฝรั่งเศสในช่วงคริสต์มาสได้ว่า ภายนอกอาจดูหรูหรา สวยงาม สนุกสนาน แต่อีกด้านหนึ่งนั้น กลับสร้างความทุกข์ ความเหงา และความเหว่ว้าให้แก่คนที่ไม่มีครอบครัวได้เช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 26

บุหรี่ ยาสูบ
คนฝรั่งเศสสูบบุหรี่กันเยอะมาก จากสถิติล่าสุดเดือนพฤศจิกายนปี 2013 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่มากถึง 14 ล้านคนต่อปี และค่าเฉลี่ยอายุของกลุ่มคนที่สูบบุหรี่มากที่สุด คือ อายุระหว่าง 18-34 ปี

บุหรี่ที่ขายในฝรั่งเศสมีราคาแพงกว่าบ้านเราหลายเท่า ยี่ห้อธรรมดาราคาประมาณ 300 บาท/ซอง หากเป็นผู้ใหญ่หรือคนทำงานที่มีรายได้มั่นคง เขาก็มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่ายได้ แต่สำหรับนักเรียนหรือวัยรุ่น การซื้อบุหรี่ก็ค่อนข้างสร้างปัญหาทางการเงินแก่พวกเขาไม่น้อย ดังนั้นเขาจึงต้องหาวิธีอื่นที่จะได้สูบบุหรี่เหมือนกันแต่ราคาย่อมเยาว์กว่า ทางออกนั้นคือ การซื้อ " ยาสูบ " มาห่อเองให้เป็นบุหรี่

อุปกรณ์ที่ใช้ในการห่อยาสูบมีทั้งหมด 3 อย่างดังในภาพที่ 1 ได้แก่ ห่อสีขาว-ดำคือแผ่นกระดาษไข ห่อสีขาว-เขียวคือใบยาสูบ และห่อสีฟ้า-ขาวคือก้านแข็งสีขาวใช้เป็นที่สูบ

ภาพที่ 2 คือวิธีการห่อ เรานำใบยาสูบวางเป็นแนวยาวบนกระดาษไข

ภาพที่ 3 คือ วิธีการที่ยากที่สุด เราต้องค่อยๆบิดยาสูบให้ม้วนเรียงตัวจนกลายเป็นแท่งบุหรี่ให้ได้ ใบยาสูบนั้นค่อนข้างลื่น ไม่ได้ห่อกันง่ายๆ ดังนั้นคนสูบจึงต้องใจเย็นๆ และใช้เวลานิดหนึ่งในการห่อ และห้ามลืมสอดก้านสีขาวที่ด้านท้ายด้วย เพราะเราต้องสูบจากด้านที่มีก้านนี้

เมื่อเราม้วนจนเป็นแท่งแล้ว เราก็ใช้เลียขอบกระดาษด้วยน้ำลายเพื่อให้มันเหนียวๆ จะได้พับลงมาได้ เป็นลักษณะเดียวกับการเลียปิดซองจดหมาย

ภาพที่ 4 คือ แท่งยาสูบที่เสร็จสมบูรณ์ เพียงจุดไฟที่ปลายแท่งก็สูบได้เลย

ราคาอุปกรณ์ทั้ง 3 อย่างรวมแล้วประมาณ 400 บาท แต่ใช้ได้นานกว่าบุหรี่สำเร็จรูปแบบซอง ดังนั้นเราจะเห็นเหล่าวัยรุ่นยืนม้วนยาสูบกันตามถนนหนทางเป็นเรื่องปกติ บางคนก็นั่งม้วนในห้องเรียน บางคนก็นั่งม้วนในรถไฟหรือรถเมล์ บางคนก็นั่งม้วนในร้านอาหารเพราะมันต้องใช้เวลาและความประณีต พอออกไปนอกอาคารแล้วจะได้ยืนสูบเลย

เนสขออนุญาตเล่าประสบการณ์ของตนเองที่เจอมา คือ ผู้หญิงไทยมักจะหน้ามัน เราจึงต้องใช้ " กระดาษซับมัน " อยู่ตลอด ครั้งหนึ่งเนสเข้าห้องน้ำ และหยิบกระดาษซับมันออกมาเพื่อจะซับหน้า เพื่อนฝรั่งก็มองอย่างสงสัยและถามว่า " เธอจะห่อยาสูบหรือ? " เนสจึงต้องอธิบายว่ามันคือกระดาษซับมัน ไม่ใช่กระดาษไขเพื่อห่อยาสูบ ผู้หญิงฝรั่งเขาหน้าไม่มันเหมือนเรา ในห้างหรือในซุปเปอร์จึงไม่มีกระดาษซับมันขาย เขาจึงไม่รู้จัก " กระดาษซับมัน "

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 25

เรื่องที่ไม่ควรพูดในฝรั่งเศส
คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ถือว่า 4 เรื่องดังต่อไปนี้ไม่ควรพูดในวงสนทนา เพราะอาจทำให้เสียบรรยากาศหรือเราอาจถูกมองว่าไม่สุภาพ ไม่รู้จักกาละเทศะ

เรื่องที่ 1 : เรื่องการเมือง เรื่องนี้คงคล้ายๆกับคนไทยที่ไม่ควรพูดหรือเถียงกันให้เป็นประเด็นรุนแรง คนฝรั่งเศสเองก็มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันเยอะ ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงประเด็นนี้

เรื่องที่ 2 : เรื่องศาสนา คนไทยอาจคิดว่าหมายถึงประเด็นการเปรียบเทียบระหว่าง " ศาสนา " ซึ่งไม่ควรพูด เช่น ศาสนา A ดีกว่าศาสนา B หรือ ศาสนา C ไม่ดี มีจุดบกพร่องมากมาย ควรหันมานับถือศาสนา D เป็นต้น

หากแต่ในสังคมฝรั่งเศสนั้น คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งแยกออกไปเป็นหลาย " นิกาย " เช่น คาทอลิก หรือโปรแตสแตนท์ ประเด็นนี้เองที่เราไม่ควรพูดว่า นิกายใดดีกว่านิกายใด หรือ เอาข้อเสียของนิกายต่างๆมาพูด เพราะเราไม่รู้เลยว่าคู่สนทนาอีกฝ่ายของเรานับถือศาสนาคริสต์นิกายใด ซึ่งอาจเกิดความขุ่นข้องหมองใจขึ้นได้

เรื่องที่ 3 : เรื่องเงินเดือน เรื่องนี้คนไทยก็ถือเหมือนกันว่าไม่ควรถามเงินเดือนคนอื่น เพราะดูเป็นการเสียมารยาท แต่สำหรับคนฝรั่งเศสนั้นอาการหนักกว่าเราอีก กล่าวคือ เขาถือว่าเรื่องเงินเดือนเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงๆ แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ไม่รู้รายได้ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันนี้มีลูกมากมายที่ไม่รู้เงินเดือนของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ไม่บอก และลูกก็ถูกปลูกฝังมาว่าไม่ต้องถามประเด็นนี้

เรื่องที่ 4 : เรื่องการมีประจำเดือนของผู้หญิง เรื่องนี้น่าประหลาดใจมากที่สุด เราอาจเห็นว่าคนฝรั่งทั่วไปไม่ค่อยถือเรื่องเพศสักเท่าไหร่ แต่ประเด็นนี้ห้ามพูดทีเดียวเชียว เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากถึงมากที่สุด เราไม่ควรพูดบอกใครแม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเอง เด็กสาวอาจตกใจและขอแม่อธิบายให้ฟังเมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ควรพูดประเด็นนี้ขึ้นมาอีก

ในระยะที่ผู้หญิงมีรอบเดือน บางคนมีอาการหงุดหงิด สิวขึ้น ปวดท้อง หรืออ่อนเพลีย หากอยู่ในสังคมไทย เราก็สามารถบอกคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรอบข้างได้ว่าเราไม่ค่อยปกติในช่วงนี้ เพราะเรามีประจำเดือน แต่ในสังคมฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงไม่ควรพูด ยิ่งลูกสาวยิ่งไม่ควรบอกพ่อว่าปวดท้องประจำเดือน ไม่ควรบอกเพื่อนในห้อง หรือเพื่อนที่ทำงาน เขาถือว่าเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่อยากรู้ ไม่ต้องเล่า ไม่ต้องพูด

ดังนั้นหากสาวๆที่มีโอกาสได้อยู่ในสังคมฝรั่งเศส ก็ควรหลีกเลี่ยงประเด็นนี้นะคะ หากเราปวดท้อง หงุดหงิด หรือไม่ค่อยสบาย เราก็แค่บอกเขาว่า " เราไม่สบาย " แต่ไม่ควรอธิบายว่าเรามีรอบเดือนอยู่

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 24

เครดิตการ์ด
เมื่อคนไทยมาเที่ยวฝรั่งเศส มักจะงงนิดหน่อยเมื่อจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นที่ร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ต สถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านอาหารทั่วไป เพราะระบบเครดิตการ์ดของเราต่างจากเขา

บัตรเครดิตการ์ดของคนฝรั่งเศสเรียกว่า " carte bleue " ซึ่งไม่ได้แปลว่า " การ์ดสีฟ้า " แต่อย่างใด เราจะต้องใส่รหัสเมื่อมีการรูดบัตรทุกครั้ง ดังนั้นพอเรายื่นการ์ดให้พนักงาน เมื่อสอดบัตรเข้าเครื่องแล้ว เขาจะหันเครื่องรูดบัตรมาทางเราและพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า " เชิญใส่รหัสครับ/ค่ะ " ซึ่งคนไทยก็จะงงว่าเขาพูดอะไรหรือหมายถึงรหัสอะไร

หากเราเจอกรณีที่พนักงานไม่คุ้นชินกับบัตรของคนเอเชียแบบนี้ เราต้องอธิบายแก่เขาว่า " บัตรเครดิตนี้ไม่มีรหัส แต่ต้องเซนต์ชื่อ " แล้วเขาก็จะเข้าใจ และยื่นใบสลิปมาให้เราเซ็นต

นอกจากนี้ ระบบการจ่ายเงินที่ร้านอาหารด้วยบัตรเครดิตก็แตกต่างจากเมืองไทย กล่าวคือ ที่ไทย พอเราสั่งเช็คบิล พนักงานจะนำบัตรเครดิตของเราไปรูดที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ แล้วค่อยถือใบสลิปใส่ถาดมาให้เราเซ็นต์ที่โต๊ะ แต่ที่ฝรั่งเศสนั้น เมื่อเราต้องการจ่ายค่าอาหารด้วยบัตร พนักงานจะบอกว่าให้รอสักครู่ เพราะเขาต้องไปนำเครื่องรูดบัตรมารูดต่อหน้าเราที่โต๊ะ เพื่อให้เรากดใส่รหัสบัตร แต่เมื่อเราไม่ต้องใส่รหัสบัตร เขาก็จะวางสลิปบนพื้นโต๊ะเพื่อให้เราเซ็นต์แบบกันเองเลย ไม่มีแฟ้มรองอย่างเป็นทางการเหมือนที่ไทย เพราะมันไม่ใช่ระบบที่คนส่วนใหญ่จ่าย

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 23

ผ้าเช็ดปาก
คนฝรั่งเศสไม่นิยมใช้กระดาษทิชชู่เพื่อใช้เช็ดปากขณะรับประทานอาหาร เราจะไม่เห็นกระดาษทิชชู่ทั้งแบบม้วนและแบบกล่องวางบนโต๊ะตามร้านอาหารหรือบ้านเรือนคน 

โดยส่วนใหญ่ เขามักใช้ผ้าเช็ดปาก สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะมีห่วงไม้ลายการ์ตูนเป็นของตนเอง พอใช้ผ้าเช็ดปากเสร็จในแต่ละมื้อ เขาไม่ได้ซักเลย แต่เขาจะพับใส่ห่วงใครห่วงมันไว้ เพื่อว่ามื้ออาหารต่อไปจะได้หยิบถูกว่าผืนไหนเป็นของใครกันแน่ กว่าจะซักทีก็สัปดาห์ละครั้ง รอจนผ้าเลอะเทอะสกปรกจริงๆจึงจะเปลี่ยนผืนใหม่

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 22

ร้านตัดผม
ร้านตัดผมที่ฝรั่งเศสถือเป็นธุรกิจทำเงินที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าค่าครองชีพจะสูงหรือมีปัญหาคนว่างงาน แต่ธุรกิจร้านตัดผมยังคงสามารถดึงดูดลูกค้าได้ตลอด ในทางกลับกัน มีวัยรุ่นจำนวนมากที่สนใจเรียนทำผมและต้องการเปิดธุรกิจร้านตัดผมเป็นของตัวเอง ดังนั้นในฝรั่งเศสจึงมีร้านตัดผมเยอะมาก ไม่ว่าเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ เราจะเจอร้านตัดผมแทบทุกถนน 

จากสถิติพบว่าทั่วประเทศมีร้านตัดผมรวม 65,999 ร้าน โดยเฉลี่ยมีคนฝรั่งเศสเข้าร้านตัดผม 1,000 คนต่อวัน และข้อมูลนี้น่าสนใจมาก เพราะแสดงการเปรียบเทียบการให้บริการของแต่ละอาชีพต่อจำนวนประชากร กล่าวคือ ช่างทำผม 1 คน สามารถให้บริการลูกค้าได้ 1,000 คน แต่หมอ 1 คน ต้องดูแลคนไข้ถึง 5,000 คน

การเข้าร้านตัดผมส่วนใหญ่นั้นเราควรนัดล่วงหน้า หากจะเดินเข้าไปในร้านแล้วเจอจังหวะที่ช่างว่างอยู่แล้วคงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้คนนิยมไปทำผมที่ร้านประจำของตัวเอง เขาไม่ค่อยลองเสี่ยงเข้าร้านที่ไม่รู้จักฝีมือช่าง ผู้หญิงฝรั่งเศสส่วนใหญ่สระผมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่มีเหงื่อ หรือไม่คันศีรษะ แต่เพราะเขามีความเชื่อว่า การสระผมบ่อยทำให้น้ำมันที่หล่อลื่นเส้นผมหลุดออกมาด้วย และไม่ดีต่อสุขภาพผม ทำให้เขาไม่นิยมสระผมบ่อย ดังนั้นเมื่อครบกำหนด เขาจึงไปสระ-ไดร์ที่ร้านประจำ เพื่อให้ผมอยู่ทรงได้ 1 สัปดาห์พอดี

ลักษณะการให้บริการของร้านทำผมที่นี่ เขาจะบริการแบบตัวต่อตัว คือ ช่างสระ ช่างตัด หรือช่างไดร์จะเป็นคนคนเดียวกัน ช่าง 1 คนต้องดูแลลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ พื้นร้านสะอาดมาก เพราะเมื่อลูกค้าคนแรกตัดผมเสร็จแล้ว เขาจะกวาดร้านก่อนรับลูกค้าคนถัดไป

นอกจากนี้ เขาค่อนข้างให้เวลาแก่ลูกค้า ก่อนอื่นเลยเขาจะลากเก้าอี้มานั่งถามความต้องการของลูกค้า ให้ลูกค้าอธิบายอย่างละเอียดว่าจะตัดทรงไหน หรือไดร์แบบไหน คือเหมือนกับว่าคุยกันให้เคลียร์ทั้ง 2 ฝ่ายก่อนลงมือสระ ซึ่งแตกต่างจากไทย เพราะร้านทำผมของไทยมักจะสระให้เสร็จก่อน จากนั้นช่างจึงเข้ามาถามเรื่องรายละเอียดของทรงผม หรือลักษณะการไดร์

เตียงสระผมของที่นี่เป็นแบบ " เก้าอี้ " คือเหมือนเรานั่งโซฟาตัวใหญ่ และแค่แหงนคอลงไปก็สระได้เลย บริเวณขอบพนักพิงมีแผ่นเหล็กสำหรับวางคอโดยเฉพาะ และแผ่นเหล็กนี้สามารถปรับเลื่อนได้ตามขนาดคอ หรือตามความสูงของลูกค้า ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องใช้ผ้าเช็ดผมวางที่ไหล่เหมือนที่ไทย เพราะน้ำไม่มีทางซึมไหลลงจากแผ่นเหล็ก และมาเปื้อนเสื้อลูกค้าอย่างแน่นอน

ค่าบริการของร้านทั่วประเทศจะใกล้เคียงกัน คือ
1. ราคามาตรฐานสำหรับการสระ-ซอยผมผู้หญิง อยู่ที่ 30-35 ยูโร ( 1,200-1,500 บาท )
2. ราคามาตรฐานสำหรับการสระ-ซอยผมผู้ชาย อยู่ที่ 20-25 ยูโร ( 800-1,000 บาท )
3. ราคามาตรฐานสำหรับการสระ-ไดร์ผมผู้หญิง อยู่ที่ 20 ยูโร ( 800 บาท )
4. ราคามาตรฐานสำหรับการถักเปียหรือเกล้าผมผู้หญิง อยู่ที่ 10 ยูโร ( 400 บาท )
5. ราคามาตรฐานสำหรับการทำผมเจ้าสาว ( ไปโบสถ์ + งานเลี้ยง ) เหมาจ่ายอยู่ที่ 105 ยูโร ( 4,200 บาท )

ทั้งนี้ หากร้านตั้งอยู่ตามห้างหรือย่านการค้าในเมืองใหญ่ ราคาก็จะแพงขึ้นตามลำดับ

ถึงแม้ว่าระบบของร้านทำผมที่ฝรั่งเศสและที่ไทยจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ " ร้านทำผมเป็นแหล่งรวมของขาเม้าท์ " ไม่ว่าจะเป็นคุณยายหิ้วตะกร้าจ่ายตลาด คุณแม่ลูกสอง หรือคุณผู้ชายหนวดเฟิ้มเจ้าของร้านยาสูบข้างๆ ต่างก็เปิดประตูเข้ามาทักทายพูดคุยกับช่างทำผมอย่างไม่ขาดสาย บางคนแค่แวะเวียนมากล่าวสวัสดี หรือบางคนก็นั่งแหมะชวนช่างคุยอย่างเอาจริงเอาจัง

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 21

การเข้า"ผับ"และ"บาร์"
เมื่อคนฝรั่งเศสนัดกันว่าคืนนี้จะออกไปเที่ยว โดยทั่วไปเขามักรวมพลเพื่อกินอาหารเย็นกันก่อน เรียกว่า un before ( เอิง บีฟอ ) อาหารเย็นที่ว่านี้ เขาจะทำกินเองง่ายๆที่บ้านคนใดคนหนึ่ง หรือ ซื้อพวกพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นกิน จากนั้นค่อยออกเดินจากบ้านประมาณ 21.30 เพื่อไปยัง " บาร์ "

ที่บาร์นั้น บางแห่งมีชั้นเดียว บางแห่งมีสองชั้น แต่ทุกแห่งเป็นระบบ self service เหมือนกันหมด แบบเดียวกับที่เราเข้าตามร้าน fast food คือ เราต้องต่อแถวเพื่อซื้อเครื่องดื่มที่เคาน์เตอร์ด้านหน้า แล้วค่อยเดินเข้าไปเลือกโต๊ะนั่งตามอัธยาศัย ไม่มีการที่พนักงานเสิร์ฟเดินมารับออเดอร์ที่โต๊ะเรา

เครื่องดื่มที่คนฝรั่งเศสนิยมสั่งตามบาร์ คือ เบียร์ ได้แก่
1. เบียร์สดแบบธรรมดาที่กดออกจากเครื่อง คุณภาพไม่ค่อยดีนัก ราคาประมาณ 3 ยูโร เขาจะเสิร์ฟในแก้วพลาสติก
2. เบียร์ Desperados มีผสมของแอลกอฮอล์จากประเทศแม๊กซิโกชื่อ tequila ตามปกติแล้ว หากเราดื่ม tequila เพียวๆ เราจะต้องอมเนื้อมะนาวสดไว้ในปาก แล้วค่อยดื่ม tequila พร้อมมะนาว จากนั้นให้ทาเกลือที่มือ และเลียกินเกลือตามเข้าไป ทำให้เมื่อเราสั่งเบียร์ Desperados ที่บาร์ เขาจะฝานมะนาวสดชิ้นเล็กๆวางไว้บนปากขวด เราก็ดันมะนาวนั้นลงในขวดแล้วค่อยดื่ม
3. Monaco เป็นเครื่องดื่มที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะสั่ง มีส่วนผสมของน้ำมะนาว น้ำทับทิม และเบียร์ ทำให้สีของน้ำออกเป็นสีชมพู

หากท่านไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท่านก็สามารถสั่งน้ำอัดลมแทนได้ แต่ตามบาร์ทั่วไป จะไม่ค่อยขายน้ำผลไม้คั้นสด นอกจากนี้ จะไม่มีการขายอาหารใดๆทั้งสิ้น คนฝรั่งเศสไม่มีการกินกับแกล้มคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขาดื่มแค่เครื่องดื่มล้วนๆ ซึ่งเขาก็รู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ ความจริงควรจะกินของกินเล่นไปด้วยเพื่อละลายความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของบาร์ เขาจึงได้แต่นั่งดื่มและพูดคุยกัน

บรรยากาศใน " บาร์ " นั้นค่อนข้างสงบ ต่างคนต่างนั่งคุยกันเป็นกลุ่มที่โต๊ะของตัวเอง ถึงแม้ว่าเสียงเพลงจะดัง แต่ก็ไม่ได้ดังมากจนเป็นอุปสรรคในการพูดคุย และลูกค้าก็สามารถเลื่อนโต๊ะ ยกเก้าอี้ เพื่อเคลียร์บางมุมของร้านให้โล่งเพื่อใช้เป็นลานเต้นได้ตามสะดวก

เวลาเปิดของ " บาร์ " คือ ประมาณ 19.30 เป็นต้นไป คนส่วนใหญ่จะทยอยเข้าบาร์หลัง 22.00 กฎหมายระบุให้บาร์ทุกแห่งปิดเวลา 02.00 หากคนฝรั่งเศสยังอยากสนุกกันต่อ เขาก็ย้ายไป " ผับ "

ระบบการเข้า " ผับ " ของฝรั่งเศสมี 2 แบบ คือ แบบแรก เราต้องเสียค่าเข้า 10-15 ยูโร และส่วนมากค่าเข้าของผู้ชายจะแพงกว่าผู้หญิง พอเราเสียค่าเข้าแล้ว เราจะสั่งเครื่องดื่มข้างในหรือไม่สั่งก็ได้ เพราะราคาเครื่องดื่มในผับจะแพงกว่าในบาร์มาก ดังนั้นวัยรุ่นฝรั่งเศสส่วนหนึ่งจะใช้วิธีว่า ยอมเสียแค่ค่าเข้า แต่พอเข้าไปแล้วก็ขอน้ำเปล่าเป็นเหยือกกินฟรี หากทางร้านไม่ให้ เขาก็เข้าไปกินน้ำจากก๊อกในห้องน้ำแทน เพราะน้ำประปาที่ฝรั่งเศสกินได้ ปลอดภัย

แบบที่สอง คือ ผับที่ไม่คิดค่าเข้า แต่ตอนเราเดินผ่านประตูเข้าไป พนักงานจะแจกคูปอง 1 ใบ/คน เราจะต้องถูกบังคับให้ซื้อเครื่องดื่มด้านใน เพื่อแลกกับการที่พนักงานจะปั๊มตัวแสตมป์บนคูปองนั้นให้เรา เราถึงจะมีสิทธิ์ออกจากผับได้ ถ้าเราไม่มีตัวแสตมป์บนคูปอง พนักงานตรวจที่ประตูขาออกจะไม่อนุญาตให้เราออก

บรรยากาศใน " ผับ " จะต่างจากบาร์ เพราะมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งน้อยมาก ส่วนใหญ่ทุกคนต้องยืนเต้นกัน คนแน่นตลอด เบียดเสียดกัน และเสียงเพลงจะดังกว่าที่บาร์มากๆ แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่มีกับแกล้มหรืออาหารใดๆขาย

เวลาเปิดของ " ผับ " คือ ประมาณ 23.30 เป็นต้นไป และกฎหมายระบุให้ผับปิดเวลา 06.00 ดังนั้นเมื่อคนฝรั่งเศสออกจากผับเพื่อกลับบ้านตอนรุ่งสาง เขามักจะถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติว่า ต้องแวะซื้อครัวซองร้อนๆที่ร้านขายขนมปังเพื่อเอากลับไปกินเป็นอาหารเช้าที่บ้าน แล้วค่อยเข้านอน

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 20

หิมะแรกของปี
ภาพที่ท่านเห็นคือ ภาพจากเมือง Annecy ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมืองนี้ตั้งอยู่แถบเทือกเขาแอลป์ ผู้คนจะมาเที่ยวที่นี่เพื่อมาเล่นสกี

หิมะนี้ถือเป็นหิมะแรกของปี นั่นหมายความว่า ฤดูหนาวกำลังมาเยือนแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เล่าเรื่องเมืองฝรั่งเศส ตอนที่ 19

การแต่งกายไปปาร์ตี้
คนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่นิยมใส่ " เสื้อผ้าสีดำ " ไปงานปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานแต่งงาน หรืองานฉลองตามโอกาสต่างๆทั่วไป 

เขาไม่ได้ถือว่า " สีดำ " ไม่เหมาะกับงานมงคล ในทางกลับกัน เขามีรสนิยมว่า " ยิ่งดำยิ่งหรู " ดังนั้น ในงานปาร์ตี้วันเกิดนี้ จึงมีแต่แขกเหรื่อใส่เสื้อผ้าสีดำ

จากภาพ ท่านอาจสงสัยว่า ผู้หญิงคนที่ใส่ชุดเดรสแขนกุดไม่หนาวหรือ? คำตอบคือ นี่เป็นเทคนิคของชาวฝรั่งเศส เขาสั่งสอนกันมารุ่นต่อรุ่นว่า เมื่ออยู่ภายในอาคาร เราต้องถอดเสื้อแจคเก็ตหรือเสื้อโค้ทออก ไม่ว่าจะหนาวก็ต้องทนหน่อย เพราะถ้าเราใส่เสื้อหนาวหนาๆไว้ตลอดเวลา พอออกไปข้างนอกจะหนาวยิ่งกว่าเดิม

ดังนั้น ตามบ้านเรือนหรือร้านอาหารจึงติดราวแขวนเสื้อโค้ทไว้ที่หน้าประตู เพื่อให้คนถอดเสื้อหนาวออกและแขวนไว้